ผู้เขียน " เสือเฒ่า เทอร์โบ" ได้มีโอกาสลงแข่งขันจักรยานเสือภูเขา "การแข่งขันจักรยาน ครอสคันทรีบ้านบึงเสือภูเขา ครั้งที่ 2 "ในวันที่ 8 พฤษภาคม 54 หลังจากเดินทางกลับจากการไปดูงานที่ มหาวิทยาลัย "ต้าลี่" มณฑลยูนาน ประเทศจีน มีเวลาเตรียมตัวน้อยมากประมาณ 1 สัปดาห์ เนื่องจากผู้เขียนต้องเดินทางบ่อยดังกล่าวทำให้ขาดการฝึกซ้อมที่ต่อเนื่อง จึงมีผลทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตนเองลงไปพอสมควร แต่ถ้าหยุดซ้อมไม่ถึง7 วันความฟิตของร่างกายก็ยังคงอยู่ เพียงแต่ต้องรู้จักปฏิบัติตนให้ถูกต้องเพื่อรักษาความฟิตของร่างกายเอาเหล่านั้นเอาไว้
การแข่งขันจักรยานครอสคันทรีเสือภูเขา เป็นการแข่งขันจักรยานที่ต้องต่อสู้กับธรรมชาติของเส้นทางที่ผู้จัดได้กำหนดเอาไว้ ซึ่งเส้นทางส่วนมากจะมี ป่า เขา ที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่ผู้จัดต้องแสวงหา เจาะเป็นเส้นทาง "ซิงเกิลแทรก" ให้นักปั่นได้ใช้กำลังและเทคนิคการบังคับรถให้อยู่ในการตวบคุมและขี่ผ่านมันไปให้ได้เร็วกว่าเพื่อน ใครที่มีความชำนาญมากกว่ากล่าวคือสามารถขี่ผ่านอุปสรรค์ดังกล่าวได้คล่องแคล่วรวดเร็ว ก็เป็นฝ่ายชนะในการแข่งขันได้เป็นรางวัลแห่งความพยายาม ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฝึกซ้อมในสนามจริง สองครั้ง ครั้งแรกไปกับ "เจ้าเชลล์"จากบางแสนที่รู้จักเส้นทางเป็นอย่างดี ปรากฏว่าในการฝึกซ้อมบนเส้นทางในรอบที่ สอง ฝนตกหนักต้องขี่ผ่านเส้นทางที่ลื่นเอามากๆ และบางช่วงต้องขี่ขึ้นเขาสวนกับทางน้ำไหลจากฝนที่ตกลงมาทำให้ยากต่อการบังคับรถคู่กายมากยิ่งขึ้นและต้องออกแรงปั่นที่มากขึ้นตามมา แต่ก็สามารถขี่ผ่านไปได้ รถไม่มีปัญหา แต่มามีปัญหาตอนขากลับต้องขี่ลุยฝนกลับบ้าน "เจ้าเชลล์กระโดดยกรถข้ามน้ำถึงกับแฮนด์คาร์บอน "ริชี่" ตัวท๊อปสุดหักสะบั้น(บริเวณที่จับมือเบรกข้างขวา) ทำให้ต้องผึ่งพา คุณ ชัย บ้านบึง ต้องขับรถมารับส่งกลับบ้าน
วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม 54 ผู้เขียนพร้อมกับครอบครัวออกเดินทางไปยังสนามแข่งขันบ้านบึงครอสคันทร์เสือภูเขาครั้งที่ 2 ได้ที่จอดรถข้างต้นไผ่จัดแจงกางฟรายชีสกันแดด ปูเสื่อ อยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นไผ่(ต้นไม้นำโชคของผู้เขียน)นั้นเอง บริเวณงานดูคึกคักเต็มไปด้วยนักแข่งชาวเสือหลากหลายที่เดินทางมาร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ มีบูทขายอะไหล่จักรยานหลายบริษัทมาเปิดขายของ Asia Bike ก็มาเปิดบูทเช่นกัน (มีตัวถังรถ ITM นำมาโชว์ลูกค้า(ชาวเสือ)ให้ได้น้ำลายหกกันเป็นแถวเพราะความเบาของรถและเทคโนโลยีการผลิตจักรยานที่ทันสมัย ผู้เขียนนำรถคู่กาย WHEELER LTD มาให้ช่างสมศักดิ์ (ช่างมือดี) เชคล้อหลังที่มีเสียงดังในดุม เนื่องจากก่อนหน้านั้นได้มาขี่ฝึกซ้อมลุยน้ำฝนดังที่กล่าวมาข้างต้นคาดว่าคงมีทรายหรือโคลนเล็กๆเข้าไปในดุม ช่างบรรจงถอดเฟืองและลูกโม่ดุม(ต้องมีเครื่องมือ)ออกมาล้างทำความสะอาดเสร็จแล้วก็นำใส่กลับเข้าไปใหม่ คราวนี้เจ้า "SUNLINGLE"หมุนพริ้วลื่นไหลเหมือนของใหม่ทุกประการ เสร็จจากเรื่องล้อผู้เขียนก็กลับเข้ามาที่จอดรถ นั่งดูรุ่นBเขาแข่งขันกันก่อน ส่วนมากเริ่มแข่งขันตั้งแต่ 9.00 น. เป็นต้นไป
ส่วนตัวผู้เขียน(เสือเฒ่า เทอร์โบ) พอถึงเวลา 11.30 น. ก็เริ่มรับประทานอาหารที่เตรียมมา(พาสต้า)เพื่อเติมพลังให้กับร่างกายโดยพยายามเคี้ยวให้ละเอียดที่สุด (เป็นเคล็ดลับ) เพื่อให้ร่างกายได้ย่อยอาหารได้ทันเวลาและจะได้ไม่เป็นภาระของร่างกายในการย่อยมากนัก นักปั่นที่มีประสบการณ์จะรู้ว่าควรจะรับประทานอาหารก่อนแข่งเป็นเวลาเท่าใด (2-3 ชั่วโมง) อาหารที่รับประทานไม่ควรเป็นอาหารที่ย่อยยาก เช่น อาหารทอด เนื้อ และเส้นใย แต่ควรเป็นอาหารที่ย่อยง่ายให้พลังงานเร็ว เช่น ขนมปังทาแยมส์ พาสต้า เฝือก มัน อาหารดังกล่าวจะให้พลังงานเร็ว( คาร์โบฯ 1 กรัมให้พลังงาน 4 แคลอรี โปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 แคลอรี และไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 แคลอรี ) การใช้พลังงานของร่างกายส่วนมาก 70% จะใช้คาร์โบไฮเดรทในการแข่งขัน ฉนั้นถ้าพี่น้องชาวเสือกินดีก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้วครับ
การแข่งขันรุ่น A จะเริ่มขึ้นในตอนบ่าย ประเภทของผู้เขียนรุ่น 50 ปีขึ้นไป แข่งขันเป็นรายการสุดท้าย(เวลาประมาณบ่าย 2 โมง)มีผู้ร่วมแข่งขัน 9 คน ก่อนการแข่งขันฝนเจ้ากรรมตกลงมาอย่างหนัก(เรียกว่าเทวดาจัดหนักให้เลย)ทำให้สภาพสนามเปลี่ยนแปลงไป(ที่ขี่ง่ายก็กลับขี่ยากขึ้น)พวกเรารุ่น 50 ปีขึ้นไปต้องแข่งขันกันท่ามกลางสายฝนที่ดูท่าที่ไม่หยุดตกแน่ๆ ผู้เขียนอบอุ่นร่างกายมาอย่างดีพร้อมอยู่ที่หน้าเส้น เสียงกรรมการนับ 5-4-3-2-1 ไป เท่านั้นละครับผู้อ่าน เสือเฒ่า เทอร์โบ(ผู้เขียน)ก็ยืนโยกเจ้าเสือ WHEELER LTD คู่กายพุ่งทะยานนำหน้าออกไปอย่างรวดเร็ว นำโด่งไปยังเส้นทางซิงเกิลแทรกข้างหน้า คนที่ขี่ไล่มาเป็นฝรั่งเพื่อนผู้เขียนเองชื่อ "ไม๊ค์ สวีท" คู่แข่งคนสำคัญที่เคยโลมลันพันตูกันมาแต่ในอดีต(ในรุ่นอายุ 45 – 49 แต่ก็ไม่เคยจะเอาชนะผู้เขียนได้สักครั้ง) ไม๊ค์ พยายามเอาชนะผู้เขียนมาตลอดเวลาและเขามักกล่าวว่า "Not to Far Prajin" ผู้เขียนตอบกลับไปว่า "To Far Mike" ผู้เขียนพยายามขี่หนีให้เร็วที่สุด ไกลที่สุด แต่เจ้าไม๊ค์ก็ไม่ลดละขี่ไล่ตามมาติดๆ และไล่มาทันตรงทางขึ้นเขาลูกแรกพอดี เสียงลมหายใจดังกังวาน ทั้งของผู้เขียนและเจ้าไม๊ค์ เห็นดังนั้นจึงตัดสินใจกระชากรคู่กายเร่งความเร็วขึ้นเขาหนีอีกครั้ง เสียงล้อหลังดังแคร็ก!ใหญ่ ทำให้การปั่นลูกบันไดชะงักไปหนึ่งสะโตก (จังหวะ) แต่ก็แข็งใจปั่นขึ้นเขานำหน้าต่อไป เสียงเบรกดีสดังอยู่ข้างหลังเป็นเสียงเบรกของไม๊ค์ พร้อมกับเสียงร้องบอกขอทาง(เป็นฝรั่งที่พูดไทยชัดที่สุด) เนื่องจากขณะนี้พวกรุ่น 50 ปีขี่ไล่ทันกลุ่ม40 ปีที่ปล่อยตัวมาก่อนหน้าแล้วนั่นเอง ทำให้เส้นทางซิงเกิลแทรกบนเขาเต็มไปนักปั่นรุ่นดังกล่าวหลายคน ผู้เขียนขอทางเพื่อขี่แซงทีละคนสองคนไปตลอดทาง เมื่อมีโอกาสและจังหวะที่จะแซง ทำให้เสียงเบรกดีสจากเสือไม๊ค์ หายไป รู้ได้ทันทีโดยสัญชาตญาณว่าขณะนี้ ผู้เขียนสามารถขี่หนีได้ไกลออกไปข้างหน้ามากขึ้น เนื่องจากฝนกำลังตกอยู่ทำให้เส้นทางซิงเกิลแทรกข้างในขี่ได้ยากยิ่งขึ้นเพราะเนื่องจากเป็นเส้นทางลาดเอียงและลื่นเอามากๆ
ผู้เขียนเริ่มขี่นำห่างออกไปเรื่อยๆจนกลับมาผ่านเส้นชัยอีกครั้งเสียงกองเชียร์และโฆษกสนามประกาศว่า "อาจารย์ปราจิน รุ่งโรจน์ ตำนานของนักจักรยาน" กำลังขี่นำมาแล้วครับ ใครจะรู้ว่าขณะนี้ รถคู่กายเกิดปัญหา "โซ่ติด"(Chain Suck) ผู้เขียนใช้วิธีปั่นลูกบันไดถอยหลังหนึ่งถึงสองรอบแล้วก็ปั่นต่อแต่โซ่เจ้ากรรมก็ติดอีก (เข้าใจว่าโซ่สกปรกมีโคลนติดมาก) ตัดสินใจเอาน้ำในกระติกลาดโซ่เพื่อไล่โคลนออกจากโซ่ แต่โซ่ก็ยังติดเหมือนเดิม ทำให้ความเร็วในการขี่หนีช้าลงเพราะต้องอาศัยการเปลี่ยนจาน ใหญ่ กลาง เล็ก สลับกันตลอดเวลา ในขณะที่ขี่นำอยู่ในรอบที่สอง (รอบสุดท้าย) ก็มีคู่แข่งในรุ่นเดียวกัน (เฮียตี๋ สุนิพนธ์ พรบรรเจิด) ขี่ไล่มาทันในเนินเขาลูกสุดท้าย ผู้เขียนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นนักปั่นคนละรุ่นจึงเปิดทางให้แซง แต่พอหันหน้ามาเจอหน้ากันจังๆ ผู้เขียนจึงรีบเร่งความเร็วขี่หนีต่อไป ทำให้เสือตี๋ ไม่สามารถขี่แซงได้ถูกทิ้งห่างอยู่ข้างหลังต่อไป ก่อนที่จะกล่าวคำว่า "โถ่อาจารย์" เส้นทางสนามแข่งขันบ้านบึงเป็นเส้นทางที่ซึมลึก(กินแรง)ไปเรื่อยๆ ช่วงสุดท้ายโซ่ติดอีกตอนขึ้นเนินเขาลูกสุดท้ายพอดี ผู้เขียนตัดสินใจกระโดดลงรถเข็นจักรยานวิ่งขึ้นเนินเขาไปเรื่อยเพราะรู้ว่าคู่แข่งขี่ไล่หลังมา พอสุดเนินก็เปลี่ยนเกียร์ขี่ได้ต่อไปเป็นเช่นนี้อยู่สองถึงสามช่วงในรอบสุดท้าย( การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในสนามแข่งขันขึ้นอยู่ที่ประสบการณ์ของผู้แข่งเป็นสำคัญ) ในที่สุดผู้เขียนก็สามารถขี่เข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่งได้อีกครั้งสมใจ ก่อนจะจบบทความนี้ขอฝากข้อคิดสำหรับพี่น้องชาวเสือว่า "อย่าคิดว่าชนะถ้ายังไม่ชนะ อย่าคิดว่าแพ้ถ้ายังไม่แพ้" สวัสดีครับ.
Share :